ยาฆ่าราแบบเคมี VS จุลินทรีย์ชีวภาพ (ไตรโคเดอร์มา)

ยาฆ่าราแบบเคมี VS จุลินทรีย์ชีวภาพ (ไตรโคเดอร์มา) แบบไหนดีกว่ากัน

ต้นไม้เป็นโรคราบนใบ ใช้ยาฆ่าราแบบเคมีหรือแบบอินทรีย์ดีกว่ากัน เชื่อว่ามือใหม่ปลูกต้นไม้จะมีคำถามนี้กันในใจ ซึ่งบทความนี้ได้ทำข้อดีและข้อเสียของการใช้ยาและจุลินทรีย์มาเทียบให้ชม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตัดสินใจได้เองและปรับใช้ให้เหมาะแก่สถานการณ์ด้วยความเข้าใจ

การกำจัด ป้องกัน และรักษาโรคจากเชื้อราแบบใช้สารเคมี VS แบบใช้จุลินทรีย์ (ไตรโคเดอร์มา)  หัวข้อนี้เดือดมากๆค่ะ จะขออธิบายอย่างไม่มีอคติ และใช้ประสบการณ์ของโมเองเพียงผู้เดียว ในมุมมองของผู้ใช้งานจริงค่ะ

 


ยาเคมีที่โมใช้อยู่ ใช้เองในตอนนี้ เดี๋ยวมีเพิ่มเติมโมจะลงให้ในบทความต่อ ๆ ไปค่ะ

ยากำจัดเชื้อรา ยาฆ่าราแบบเคมี

ข้อดีของการใช้ยาฆ่าราแบบเคมี

1. สามารถฉีดพ่นใบ และรดโคน เพื่อกำจัดเชื้อราได้ทุกส่วนของต้นไม้

2. มีประสิทธิภาพยาวนาน กำจัดราได้หลายชนิด

3. ใช้สะดวก ผสมน้ำฉีดพ่น ไม่ยุ่งยาก

4. เห็นผลแน่นอนกว่า รวดเร็วกว่า เมื่อเทียบกับแบบใช้จุลินทรีย์

5. เก็บรักษาง่าย ไม่งองแง เมื่อเทียบกับแบบจุลินทรีย์

6. หากใช้สลับๆหลายตัวป้องกันเชื้อดื้อยา จะไม่มีรามากวนใจแน่นอน (มายาก)

 


ยาฆ่าราบางตัวที่เป็นคอปเปอร์ หรือแม้แต่ตัวยาอื่น ๆ ที่เมื่อผสมแล้วมีสีขุ่น อาจเปรอะเปื้อนบนใบเป็นธรรมดา อย่างในรูปนี้จะพบรอยเลอะๆบนใบสีฟ้าๆของฟังกูรานบนใบ Philodendron Pink Princess สามารถเช็ดออกได้ด้วยสำลีชุบน้ำเปล่า

ข้อเสียของการใช้ยาฆ่าราแบบเคมี

1. หากไม่ปฏิบัตตามฉลากอย่างเคร่งครัด จะมีอันตรายต่อผู้ใช้แน่นอนระยะยาวและสั้น

2. หากใช้เกินที่ฉลากกำหนด อาจเสี่ยงใบไหม้ ใบเสีย ใบหงิก โดยเฉพาะใบใหม่เสียหายได้ง่าย

3. หากใช้ในช่วงเวลาที่แดดแรง ยาบางประเภทจะทำให้ใบเสียหาย ใบไหม้ได้

4. ยาบางตัวทิ้งรอย ทิ้งฝุ่นผงของตัวยาไว้บนใบ ทำให้ใบดูเลอะๆ

5. ยาหลายตัว ทำลายแบคทีเรียในดินไปพร้อมๆกับเชื้อราที่เราอยากทำลายด้วย

6. ยาหลายตัวฟุ้งมาก โดยเฉพาะแบบผง ยากที่จะผสมใช้งานสำหรับผู้ที่ปลูกในบ้าน

7. ยาเกือบทุกตัวอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะหากใครเลี้ยงกุ้ง กุ้งไม่รอดแน่นอนค่ะ


 

ในรูปนี้คือจุลินทรีย์กำจัดเชื้อราที่โมลองซื้อมาใช้เอง ในท้องตลาดมีมากกว่านี้ จริง ๆ มีไตรโคเทคอีกตัวแต่ใช้หมดไปแล้ว

จุลินทรีย์กำจัดเชื้อรา เกษตรอินทรีย์

ข้อดีของการใช้จุลินทรีย์กำจัดเชื้อรา (ไตรโคเดอร์มา, ราแบค ซับทีลิส BS)

1. ปลอดภัย 100% กับผู้ใช้

2. ปลอดภัย 100% กับต้นไม้

3. ใช้ได้มากไม่ต้องกลัวเกิน เพิ่มเติมคือเปลืองอย่างเดียว

4. ได้ผลดีมากกับการกำจัดราในดิน เช่น โรครากเน่า

5. เมื่อทำงานเต็มที่ จะช่วยย่อยสลาย และปลดปล่อยสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นการแตกรากของพืชได้ดี เสริมให้พืชดูดซึมดีขึ้น

6. ราคาถูก หาซื้อง่าย เราจะเห็นไตรโคเดอร์มาวางขายในร้านต้นไม้ทั่วไป

7. ไม่ทิ้งรอยบนใบไม้ ไม่ทำให้ใบเลอะ

8. ไม่ต้องกลัวว่าจะมีสารเคมีตกค้าง กรณีเผลอกินใบไม้เข้าไป..


 

เวลาที่เราฉีดพ่นจุลินทรีย์กำจัดเชื้อรา ควรเป็นช่วงเย็น เนื่องจากไตรโคเดอร์มาและจุลินทรีย์อื่นๆนั้นอ่อนแอเมื่ออากาศร้อนแห้งและถูกแสงอาทิตย์ฆ่าได้

 

ข้อเสียของการใช้จุลินทรีย์กำจัดเชื้อรา (ไตรโคเดอร์มา, ราแบค ซับทีลิส BS)

1. เห็นผลไม่ดีเท่าไหร่ในการกำจัดราบนใบ ลำต้น (ดีแค่ในดิน)

2. เชื้อราอ่อนแอเมื่อถูกแสงอาทิตย์ ตายง่ายเมื่อไม่ได้อยู่ในดิน

3. เก็บรักษายาก กรณีเพาะเชื้อสด

4. ใช้งานยากกรณีเชื้อสดที่ต้องมากรองก่อนใช้

5. มีกลิ่นเหมือนทำซุปเห็ดตลอดเวลาสำหรับไตรโคเดอร์มา

6. ส่วนราแบค ซับทีลัส กลิ่นเหมือนไม่ได้อาบน้ำ 2.5 วัน

7. ราอ่อนแอ และตายง่ายเมื่อเจอสารเคมี โดนยาฆ่ารา หรือยาฆ่าแมลวบางชนิดจะตายทันที

8. ราอ่อนแอ ประสิทธิภาพไม่ดี เมื่อใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี

9. ต้องพ่นช่วงเย็น เพื่อเลี่ยงแสงอาทิตย์เท่านั้

 

ไตรโคเดอร์มา เป้นเชื้อราชั้นสูง มีลักษณะสีเขียวมินท์อ่อน ๆ เข้ากัดกินเส้นใยของเชื้อราอื่น ๆ จึงถูกนำมาใช้รักษาโรครากเน่าคอดินได้ ขอบพระคุณรูปประกอบจาก www.projectnoah.org

 

ไตรโคเดอร์มา คืออะไร  (เกษตรอินทรีย์)

 

ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) เป็นราชั้นสูง ที่จะเข้ายึดเส้นใยของราชนิดอื่นและกินเป็นอาหาร โดยจะเบียดเบียนราอื่นๆไปจนหมด และตัวเองจะเริ่มก่อร่างสร้างตัวยึดครองพื้นที่มาเป็นของตัวเอง

 

ไตรโคเดอร์มาเองยังช่วยให้รากพืชมีความสมบูรณ์จากการที่เค้าสามารถช่วยกระตุ้นการแตกรากได้เล็กน้อย และยังย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน ปลดปล่อยสารอาหารที่มีขนาดเล็กพร้อมใช้ให้พืชดูดซึมได้ง่าย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสวนเกษตรกิใบที่ใช้ไตรโคเดอร์มาถึงดูกระชุ่มกระชวย ดูชุ่มชื้น สมบูรณ์


 

 

เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถเติบโตได้ในที่ชื้นแฉะและค่อนข้างมืด และจะตายอย่างรวดเร็วหากถูกแสงแดด ขอบพระคุณรูปประกอบจาก www.projectnoah.org

 

ด้วยความที่ไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อรามีชีวิต ทำให้มีข้อจำกัดในการเติบโตในที่ที่มีแสงแดด เช่น ใบ ลำต้น เป็นเหตุให้ไตรโคเดอร์มา มีประสิทธิภาพน้อยในการจัดการราบนใบนั้นเอง

 

ไตรโคเดอร์มานั้นสามารถเติบโตได้รวดเร็วและดีมากในดินที่มีความชื้น มืด ซึ่งส่งผลดีในการรักษาโรครากเน่าต่างๆ และยังป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อราในดินอื่นๆอีกด้วย เนื่องจากตัวไตรโคเดอร์ม่าเองได้ยึดครองดินในกระถางไปหมดแล้ว (เจ้าถิ่น)

 

การรักษาโรคจากเชื้อราบนใบ เช่น ราสนิม และอื่นๆ เราจึงควรใช้ยาเคมีจะเห็นผลมากกว่า เนื่องจากไม้ที่เราเลี้ยง เป็นไม้ด่าง (อ่อนแอ) ที่มีราคา จึงต้องเอาความแน่นอนไว้ก่อนค่ะ

 

เมื่อเราใช่สารเคมีไปแล้ว จะทำให้การใช้จุลินทรีย์เป็นไปได้ยากตามมาด้วย เพราะไตรโคเดอร์มา และอื่นๆ จะตายทันทีหากเจอยาฆ่ารา (เพราะน้องเป็นราตัวน้อย 55) จึงไม่แนะนำให้ใช้เคมี กับอินทรีย์ร่วมกันค่ะ ควรเลือกอย่างใดอย่างหน

ึ่ง

 

จุลินทรีย์กำจัดเชื้อรานั้นมีความปลอดภัยกับสัตว์เลี้ยง เพราะเป็นจุลินทรีย์ที่พบเจอได้ในธรรมชาติ ไม่สะสม ไม่ระคายเคืองต่อระบบหายใจ สำหรับบางส่วนของบริเวณปลูกที่บ้าน โมก็ใช้ตัวจุลินทรีย์กำจัดเชื้อราแทนยา ส่วนโซนต้นไม้แพงๆ หรือต้นไม้ที่รักที่หวงมาก ก็จะใช้สารเคมีเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีราบนใบมารบกวนแน่นอนค่ะ

 

ทั้งนี้ โมมีโรงเรือน 2 ที่ ที่หนึ่งใช้เคมีทั้งหมด ยาฆ่าราเป็นแคปเทน จอยส์ ฟังกุรานวนไป ปุ๋ยเคมีเป็นออสโมโค้ท เทอร์โมโค้ท พ่นใบด้วยสาหร่ายสกัด HB-101 ปุ๋ยกล้วยไม้ ล้วนแล้วแต่เป็นเคมี ก็ใช้ไปเลยทั้งเรือน

 

ส่วนอีกเรือนหนึ่งเป็นเรือนบอน จะใช้เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด การป้องกันราจะใช้ไตรโคเดอร์มาผสมดินขุยไผ่ วนให้ไป ส่วนอาหารทางใบมีฉีดพ่นแบคทีเรียสังเคราะห์แสงบ้าง ให้มันลงไปในถาดรอง แต่ไม่ค่อยให้อาหารทางใบแต่อย่างใด ปุ๋ยที่ให้เป็นมูลไส้เดือน กับใบมะขามหมักล้วนๆค่ะ โมมีตัวอย่างบอนสีที่เลี้ยงแบบอินทรีย์อยู่ค่ะ ลองดูรูปใน ดินปลูกบอนสี 4 แบบ อย่างละเอียด ! ได้เลยค่ะ พอมีรูปบอนของโมบ้าง เดี๋ยวมีบทความใหม่ ๆ จะใส่รูปเพิ่มให้อีกค่ะ


คำถามที่เจอบ่อย

 

ไตรโคเดอร์มาผสมกับปุ๋ยฉีดพ่นได้ไหม

ตอบ ได้ค่ะ ให้ผสมแล้วใช้ทันที ถ้าทิ้งไว้นานทั้ง 2 ตัวก็จะค่อยๆเสื่อมสภาพไปค่ะ

 

ไตรโคเดอร์มาผสมยาฆ่าราฉีดพ่นได้ไหม

ตอบ ไม่ควรค่ะ เพราะเท่ากับเราจะเปลืองไตรโคเดอร์มาไปเปล่าๆเลย เพราะไตโคเดอร์มาเองเป็นเชื้อรามีชีวิตค่ะ ผสมยาฆ่าราเข้าไปตายสถานเดียวค่ะ

จบกันไปแล้วนะคะสำหรับหัวข้อยาฆ่าราและจุลินทรีย์ฆ่ารา หากใครผสมยาไม่ถูก ไม่รู้ว่าอัตราส่วนแบบนี้จะผสมยังไง ลองเข้าไปคำนวนได้ในหน้า คำนวนอัตราอาหารทางใบ ปุ๋ยและยา ได้เลยนะคะ

รักกันชอบกันติดตามกันได้ในเพจ Leafy Monster นะคะ โมมีโพสความรู้การดูแลต้นไม้มากมายแปะไว้ให้ค่า


เรียบเรียงโดย พรรษชล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

15 August 2021 | Paschol Supradith Na Ayudhya