ด่างไวรัสขนนกในบอน Colocasia

รอยด่างสวย ๆ เป็นขีด ๆเหมือนขนนกบนใบบอน ด่างขนนก ด่างจริงหรือด่างป่วย ? 

หากวันดีคืนดี บอนที่เคยใบสวย ๆ อยู่ดีๆก็มีรอยด่างขึ้นมาชัดเจนลักษณะคล้ายขนนก ควบคู่ไปกับใบมีอาการหงิก ดูป่วย ๆ ร่วมด้วย บอนของท่านอาจติดเชื้อไวรัสขนนกหรือ Mosaic Virus นั่นเอง วันนี้โมนำตัวอย่างบอน Colocasia ที่มีอาการติดไวรัสมาให้ชมค่ะ แต่ไม่ใช่ทุกกรณีจะเป็นไวรัสไปเสียหมด เดี๋ยวโมจะอธิบายให้ดังนี้ค่ะ

ตัวอย่างไวรัสขนนกบนใบ Colocasia Illustris จะสังเกตุเห็นว่านอกจากจะมีลายด่างกินเข้าบนใบแล้ว ยังมีอาการใบหงิกร่วมอยู่ด้วย ขอบคุณแอดมินกลุ่ม คนรัก Colocasia illustris สายดำคลาสสิค และโคโลคาเซียทุกชนิด Thailand สำหรับรูปตัวอย่างไวรัสสวยๆค่ะ

ไวรัสขนนกใน Colocasia ลักษณะ การดูแล การกำจัด

ไวรัสขนนกคืออะไร เป็นใบด่างใช่ไหม?

ไวรัสขนนก มีชื่อเรียกว่า Dasheen Mosaic Virus เป็นไวรัสก่อโรคในพืช ในวงการไม้ด่างและไม้สะสม เรามักจะพบเห็นในไม้ใบหลายชนิดเช่น โคโลคาเซีย ฟิโลเดนดรอน มอนสเตอร์รา และไม้อื่น ๆ

รูปแสดงอาการด่างบนใบบอนโคโลคาเซีย โดยมีลักษณะใบหงิกร่วมด้วย หากพืชเป็นแบบนี้มากๆ จะทำให้ใบเสียพื้นที่ในการสังเคราะห์แสงไป และทำให้ต้นไม้อ่อนแอลง ใบใหม่มาช้าขึ้น และหงิกมากขึ้น

อาการของไวรัสขนนกใน Colocasia

ไวรัสขนนกจะเข้าทำลายใบบอน Colocasia ของเรา โดยทำให้การสร้างคลอโรฟิลล์ผิดปกติ เกิดเป็นรอยริ้ว หรือรอยคล้ายขนนกบริเวณใบ มีสีเขียวอ่อน สีนม หรือสีเหลือง ทำให้ใบไม้ส่วนนั้นไม่สามารถสร้างอาหารได้ อาจมีอาการใบหงิกร่วมด้วย และก้านของใบจะเริ่มเปลี่ยนสี

จุดสังเกตุมีดังนี้


การติดต่อ พาหะนำโรค

โรคไวรัสในพืช สามารถติดต่อกันได้โดนมีแมลงที่ดูดกินน้ำเลี้ยงเป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงปากดูด เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดด และนอกจากนี้ การใช้กรรไกรตัดต้นไม้ และอุปกรณ์ทำสวนร่วมกันก็สามารถทำให้ไวรัสติดจากต้นสู่ต้นได้ ไรแดงก็เป็นพาหะได้เช่นกัน สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับไรแดง ได้ที่ ไรแดง ต้นไม้ – ใบเสีย การกำจัด และป้องกัน ด้านในจะมีรูปประกอบของไรแดงให้อย่างชัดเจนค่

เพลี้ยแป้ง (รูปซ้าย) และเพลี้ยอ่อน (รูปขวา) มักจะมาพร้อม ๆ กับมด โดยมดจะแบกแมลงพวกนี้มาทำฟาร์มน้ำหวานบนใบของเรา ให้เรากำจัดรังมดและทางเดินมดก่อน แล้วจังกำจัดแมลงบนใบ อาจจะใช้วิธีการพ่นยาฆ่าแมลง หรือการลงสตาเกิ้ลจีเอาไว้ที่โคนต้นและรดน้ำลงไป

การรักษา

สำหรับไวรัสในพืช ยังมีการศึกษาน้อยมาก และไม่มียารักษาอย่างเป็นทางการ ข้อแนะนำคือการนำต้นไม้ที่ป่วยไปทำลาย หรือเผาไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังต้นอื่น ๆ เนื่องจากต้นโคโลคาเซียที่ติดไวรัสแล้ว จะมีเชื้ออยู่ตลอดและไม่สามารถรักษาได้ แต่ถ้าหากไม่ต้องการทำลายต้นไม้ที่เรารัก เราสามารถเลี้ยงแยกไกลๆจากต้นอื่น และลงยาฆ่าแมลงไว้ที่โคนต้นเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงปากดูดมาดูดน้ำเลี้ยงและเป็นพาหะไปติดต้นอื่น ๆ ต่อไปค่ะ

หากทำใจไม่ได้ที่จะต้องทิ้งต้นไม้ที่ป่วยไป โมมีข้อแนะนำเพิ่มเติมให้ค่ะ และเป็นทางเลือกที่โมใช้อยู่เอง

การป้องกัน

บำรุงต้นไม้ให้แข็งแรงอยู่เสมอ ลงยาฆ่าแมลงไว้ที่โคน เพื่อป้องกันแมลงที่มีเชื้อมาดูดน้ำเลี้ยงบนใบ ไม่ใส่ปุ๋ยหนักเกินไปเนื่องจากจะทำให้ดินเสื่อมสภาพและเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ใบด่างคล้ายไวรัสแต่ไม่ใช่ไวรัสได้ค่ะ โมทำบทความการบำรุงต้นไม้ไว้หลายประเภทแต่ยังไม่มีโคโลคาเซีย เช่น เงินไหลมาด่างขาว-สูตรปลูกเพื่อตัดขยายทำกำไร และ  ดินปลูกบอนสี 4 แบบ อย่างละเอียด !และ สูตรปลูก 8 เซียน Philodendron Pink Princess ในอนาคตจะทำตัวโคโลคาเซีย-Colocasia เอาไว้ให้นะคะ ตอนนี้ลงไว้ในเฟสแบบสะเปะสะปะ

เนื่องจากต้นไม้ที่ติดโรค จะแสดงอาการเมื่อต้นไม้มีความเครียด หรืออ่อนแอลง หรือวันดีคืนดีก็แสดงอาการ และจะหายไปได้เองเมื่อต้นไม้กลับมาแข็งแรง แต่เชื้อยังอยู่ โมจึงแนะนำให้ตัดใบที่ติดโรคออกไปเลย และลงยาฆ่าแมลงแบบดูดซึมไว้ที่โคนต้น (โมใช้สตาเกิ้ลจี) รวมทั้งเลี้ยงไว้ไกล ๆ บอนต้นอื่นๆ การที่เราลงยาฆ่าแมลงไว้เสมอ จะช่วยป้องกันไม่ให้มีแมลงซึ่งเป็นพาหะนำโรค เอาโรคจากต้นป่วยไปติดต้นปกติได้บ้างค่ะ

อาการด่าง ไม่ใช่ไวรัสเสมอไป

บางครั้งบอนที่เพิ่งแยกมาแล้วมีอาการหัวเน่ารากเน่า หรือทรุดโทรมหนัก อาจเปิดใบมามีรอยด่างคล้ายไวรัสได้ แต่ไม่ใช่ไวรัส ซึ่งเกิดจากความไม่สมบูรณ์ ต้นไม้อ่อนแอ และจะหายไปเองในใบถัดๆไป โมจะขอสรุปสาเหตุที่ทำให้ต้นไม้มีอาการแบบนี้ แต่ไม่ใช่ไวรัส และจุดสังเหตุให้นะคะ

แต่หากเป็นไวรัส ถ้าต้นไม้ไม่แข็งแรง จะยังแสดงอาการขึ้นมาเรื่อยๆ และจะค่อยๆหายไปเมื่อต้นไม้มีความแข็งแรง ซึ่งต้นที่มีอาการนี้สามารถเป็นพาหะนำไวรัสไปติดต้นอื่นได้แม้ไม่แสดงอาการ

รักกันชอบกันติดตามกันได้ใน Leafy Monster นะคะ

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการอ่าน หรือผู้ที่กำลังเก็บข้อมูลการดูแลต้นไม้

1. Detection and Identification of Dasheen mosaic virus Infecting Colocasia esculenta in India

2. บทความรอยด่างที่ไม่ใช่ไวรัส – Thaigardenstore

3. แนวทางการเลี้ยง Colocasia วัสดุปลูกโตไวใบใหญ่ – ประสบการณ์การเลี้ยงของโมเอง


เรียบเรียงโดย พรรษชล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

15 August 2021 | Paschol Supradith Na Ayudhya